ผู้เริ่มต้นสนใจปลูก “กัญชง” และ “กัญชา” สำหรับมือใหม่สิ่งที่ต้องรู้จักเบื้องต้น นั่นคือ ความแตกต่างระหว่างกัญชงและกัญชา ทั้งชื่อที่เรียกและความแตกต่างในทางกฎหมายของไทยที่มีการระบุไว้
กัญชงและกัญชา จัดเป็นพืชล้มลุกวงศ์เดียวกัน ในทางพฤกษศาสตร์เดิมกัญชงและกัญชาจัดอยู่ในวงศ์ตำแย แต่ต่อมาได้แยกเป็นวงศ์เฉพาะ เรียกว่า Cannabaceae อยู่ในสกุลเดียวกันเรียกว่า Cannabis ส่วนชื่อที่เรียกทั่วไปจะแตกต่างกัน
“กัญชา” มีชื่อที่คนทั่วโลกรู้จักว่า Marijuana ส่วน “กัญชง” จะเรียกว่า Hemp มีลักษณะภายนอกใกล้เคียงกัน แต่ก็มีการกำหนดลักษณะเด่นบางประการไว้ โดยการจำแนกเบื้องต้น มีดังนี้
ชื่อวิทยาศาสตร์
กัญชา Cannabis sativa L. Subsp. indica
กัญชง Cannabis sativa L. Subsp. sativa
ความแตกต่างลักษณะทั่วไป
“กัญชง” จะมีลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตรขึ้นไป แตกกิ่งก้านน้อย ปล้องหรือข้อยาว มีเปลือกของลำต้นเหนียว ลอกง่าย ลักษณะใบ เป็นใบเดี่ยวรูปฝ่ามือ เรียงตัวกันห่าง ๆ แผ่นใบแยกหลายแฉก ขอบใบเป็นฟันเลื่อย ปลายใบเรียวแหลม สีเขียวอมเหลือง ดอกมียางที่ช่อไม่มาก กะหลี่กัญชา(ใบและช่อดอกเพศเมืยกัญชาแห้ง) มีกลิ่นหอมน้อย เมื่อนำมาสูบจะทำให้ปวดศีรษะ ลักษณะเมล็ดใหญ่ ผิวหยาบด้าน มีลายบ้าง
“กัญชา” มีลักษณะของลำต้นเตี้ย ทรงพุ่มแน่นทึบ แต่กิ่งก้านมาก ปล้องหรือข้อสั้น ใบมีสีเขียว-เขียวจัดขอบใบย่อยแต่ละแฉกเรียวยาว เรียงตัวชิดกัน มียางที่ช่อดอกมาก ให้สาร THC สูงกว่ากัญชง กะหลี่กัญชา(ใบและช่อดอกเพศเมืยกัญชาแห้ง) มีกลิ่นหอมมาก เมื่อนำมาสูบจะเคลิบเคลิ้ม มีฤทธิ์หลอนประสาท ลักษณะเมล็ดมีขนาดเล็ก ผิวมันวาว มีลาย
ทั่วโลกและไทยยังจัดกัญชงและกัญชาเป็นพืชยาเสพติดให้โทษ มีสารสำคัญที่รู้จักกันได้แก่ THC และ CBD โดยสหประชาชาติหรือ UN และอีกหลายประเทศรวมทั้งไทย มีการใช้ THC หรือ Tetrahydrocannabinol กำหนดระหว่างกัญชาและกัญชง ในทางกฎหมายสากล กำหนดให้พืชที่มี THC ต่ำกว่า 0.3 % ไม่ถือเป็นพืชเสพติด ส่วนกัญชงที่ปลูกในอุตสาหกรรมต้องมีค่า THC ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งแต่ละประเทศมีการกำหนดค่าแตกต่างกัน
ประเทศไทยตามประกาศ คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง(Hemp) พ.ศ. 2562 ระบุว่า กัญชงเป็นพืชชนิดย่อยของกัญชา ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 1.0 % ต่อน้ำหนักแห้ง ทั้งนี้เพราะ THC เป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อสมองทำให้เมา เมื่อเสพในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน ส่วน CBD หรือ Cannabidiol ที่ได้จากกัญชงและกัญชานั้นไม่มีข้อกำหนดระบุไว้ สำหรับสารสำคัญ CBD พบว่า ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท จึงนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารและเครื่องสำอาง
กฎหมายไทยมีการปลดล็อก บางส่วนของต้นกัญชงและกัญชาออกจากยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีการยกเว้นกัญชงและกัญชาที่ได้จากการปลูกและผลิตในประเทศไม่จัดเป็นยาเสพติด เพื่อให้ประชาชนสามารถนำกัญชาและกัญชง มาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และอื่น ๆ ได้ ในประกาศกำหนดส่วนที่ยกเว้นให้นำมาใช้ ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก รากและเส้นใย รวมถึงกากที่เหลือจากการสกัดและสารสกัดต้องมีค่า THC ไม่เกิน 0.2 % ส่วนน้ำมันจากเมล็ดกัญชงและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ก็ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ด้วยเช่นกัน
ขณะนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดการใช้กัญชงและกัญชานอกจากการใช้ในทางการแพทย์แล้ว ได้แก่
1. การใช้กัญชงในเครื่องสำอาง มีการกำหนดปริมาณการใช้น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ในกลุ่มเครื่องสำอาง พร้อมระบุเงื่อนไขปริมาณการใช้ ตัวอย่างเช่น การใช้น้ำมันเมล็ดกัญชง(Hemp Seed Oil) ในเครื่องสำอางสามารถใช้ได้ทุกประเภท ยกเว้นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ Soft gelatin capsules ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในช่องปาก หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้บริเวณจุดซ่อนเร้น มีเงื่อนไขประกอบ โดยวัตถุดิบต้องมีสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.2 % และเครื่องสำอางพร้อมใช้จะต้องมีสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.2 % เช่นกัน
2. การใช้กัญชาในอุตสาหกรรมอาหาร โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีการกำหนดส่วนที่ได้รับการยกเว้นให้สามารถนำมาใช้ในอาหารได้
3. การใช้กัญชงในอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมอื่น มีตั้งแต่การกำหนดมาตรฐานเมล็ดกัญชงที่เป็นอาหาร การกำหนดปริมาณการใช้เกี่ยวกับวัตถุดิบกัญชงในอาหาร เช่น ปริมาณการใช้น้ำมันเมล็ดกัญชง หากต้องการบริโภคตรง หรือใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม อาหาร อาหารเสริม ฯลฯ อีกหลายรายการที่ใช้กัญชงเป็นส่วนประกอบ
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าของประกาศต่าง ๆ เกี่ยวกับกัญชงและกัญชา เพิ่มเติมได้จาก Link https://cannabis.fda.moph.go.th/
อ้างอิงข้อมูล
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/008/T_0021.PDF
http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P425.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/045/T_0032.PDF
https://cannabis.fda.moph.go.th/
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/290/T_0033.PDF
https://www.nfc.or.th/wp-content/uploads/download-manager-files/seminar-62-005.pdf
https://www.oncb.go.th/ncsmi/hemp7/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%87-%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8A%E0%B8%B2.pdf
https://www.thaipost.net/main/detail/24425
https://gnews.apps.go.th/news?news=73961
https://ockt.dtam.moph.go.th/index.php/law/195-hemp-2562